เริ่มต้นเดินสำรวจ
"ระยะทาง 2.5KM นี่มันจะแค่ไหนกันเชียวนะ" ผมคิดในใจ เพราะก่อนหน้าที่จะมาที่นี่ วันที่พวกเราไปดูงานพลุกันที่สะพานพุทธฯ ก็จอดรถไว้ห่างจากจุดแสดงอยู๋ไกลพอควร วันนั้นเดินไปกลับกันทั้งหมดเกือบๆ 4 กิโล ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเหนื่อยกันสักเท่าไร
ที่ช่องเขาขาดนี้ จากที่เจ้าหน้าที่แจ้ง พวกเราจะต้องเดินกันประมาณ 2.5 กิโลเมตรจากอาคารพิพิธภัณฑ์ ตามรอยเส้นทางรถไฟเดิม ไปจนถึงถนนหินตก แล้วจึงเดินกลับเส้นทางเดิมมายังพิพิธภัณฑ์ รวมระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร
ช่วงแรกก็ต้องเดินลงมาจากอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นบันไดทางเดินทำเอาไว้อย่างดี เพียงแต่มันเดินลงมาเยอะพอสมควรจนอดคิดถึงขากลับที่ต้องเดินกลับขึ้นไปไม่ได้ ดูท่างานนี้จะไม่ง่ายซะแล้ว
รางรถไฟของเดิมทั้งหมด ถูกรื้อถอนออกไปตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามได้ไม่นาน แต่ยังคงมีช่วงสั้นๆของรางเดิมให้เราได้เห็นกัน ทางเดินทั้งหมดที่เหลือแม้ไม่มีรางรถไฟให้เห็นแล้ว แต่ร่องรอยการสร้างเส้นทางนั้นยังคงอยู่เหมือนเดิม
บรรยากาศค่อนข้างร่มรื่น มีต้นไม้ปกคลุมส่วนมาก แม้ว่าจะเป็นการเดินในบรรยากาศแบบนี้ แต่กลับให้ความรู้สึกแปลกๆ "ขนลุก" ถ้าไม่ได้นับว่าสถานที่นี้ในทุกๆก้าวที่เราเดินไปตามเส้นทาง จะต้องมีเชลยศึกที่เคยทำงานด้วยความเหนื่อยยาก และแน่นอนว่าต้องเคยมี"ศพ" ในจำนวนที่นับไม่ถ้วนตลอดทาง
สิ่งที่จะทำให้พวกเราขนลุกได้ แม้ว่าจะไม่ได้มีความคิดเรื่องลี้ลับใดๆเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นก็คือช่องเขาสูงใหญ่ที่อยู่ในระหว่างช่องทางเดินที่เราเดินผ่าน มันคือภูเขาหินแกรนิตแข็งๆ ถูกเจาะออกเป็นช่องว่างๆเพื่อให้สามารถส้รางเส้นทางรถไฟได้
แข็งขนาดไหน ลองเอาค้อนที่บ้านทุบพื้นซีเมนต์ดูแล้วคุณจะเข้าใจ
การสร้างทางในสมัยนั้นเกือบทั้งหมดใช้แรงงานล้วนๆและเป็นงานทำมือ คนงานหนึ่งคนจะต้องวางหมุดเหล็ก อีกคนหนุ่งตอกลงไปเพื่อสกัดเอาหินออก บางส่วนก็ต้องตอกให้เป็นรูเพื่อวางระเบิด ลองจินตนาการว่าต้องถือค้อนปอนด์หนักๆ เหวี่ยงเต็มแรงเพื่อตอกหมุดนี่ทั้งวัน วันละ 18 ชั่วโมง มันจะสาหัสได้ขนาดไหน
ในระหว่างเส้นทางเดิน จะมีป้ายบอกเป็นระยะ ถึงความสำคัญของจุดต่างๆ พร้อมหมายเลขกำกับไว้ให้เรากดเครื่องบรรยายเพื่อฟังเรื่องราวในแต่ละจุดนั้น
ซึ่งต้องบอกว่าทำเอาไว้ดีมาก!!! ไม่ต้องกลัวเลยว่าเดินแล้วจะเหงาๆ เพราะถ้าคุณเดินไปด้วยแล้วฟังบรรยายไปด้วย นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังทำให้ได้บรรยากาศเหมือนว่าคุณย้อนกลับไปเมื่อ 80 กว่าปีที่แล้ว ในสถานที่แห่งเดียวกันนี้
สิ่งเดียวที่เป็นอุปสรรคในการเดินที่ไม่คาดคิดก็คือ เส้นทางมันไม่ได้เป็นทางเดินเรียบๆ แต่บางครั้งต้องเดินขึ้นลงเขา เอาจริงๆตอนแรกที่เดินก็ค่อนข้างงง เพราะในความคิดทางรถไฟมันต้องเป็นทางเรียบๆไปเรื่อยๆสิ ทำไมบางช่วงมันถึงเป็นหน้าผา ต้องเดินลงไป หรือเป็นช่องเขาที่ไม่ต่อเนื่องกัน
มาถึงบางอ้อก็ตอนที่เห็นภาพถ่ายดั้งเดิม ทำให้เข้าใจเลยว่าทุกจุดที่ทางขาดไป นั่นคือเป็นสะพานในสมัยนั้น หมายความว่านอกจากจะต้องเจาะภูเขาแล้ว จุดไหนที่ไม่สามารถปรับพื้นได้ หรือเป้นช่วงที่ขาดไป ก็ต้องสร้างสะพานขึ้นมาเพื่อรองรับทางรถไฟ คิดแล้วขนลุก
"เมื่อไรจะถึงปลายทางกันเนี่ย" ความคิดนี้เริ่มผุดขึ้นมาในหัว หลังจากเดินมาได้ประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะตอนนี้น้ำที่เตรียมาเริ่มลดลง สปอนเซอร์ก็หมดไปแล้ว 1 ขวด เข้าใจแล้วว่าทำไมพิพิธภัณฑ์ต้องให้วิทยุสื่อสารมาด้วย เส้นทางมันเหนื่อยกว่าที่คิดเอาไว้
"พิพิธภัณฑ์เรียกวิทยุเบอร์ 15 ค่ะ" ทุกๆ 1 ชั่วโมง ทางพิพิธภัณฑ์จะเรียกเข้าวิทยุของเราพร้อมถามว่า "ทุกอย่างเรียบร้อยดีมั้ยคะ" ในใจคืออยากจะบอกว่ามีโดรนมาส่งน้ำได้มั้ยครับ 555 จุดนี้ต้องขอชื่นชมจริงๆ ที่นี่ใส่ใจผู้เข้าชมมากๆ วิทยุจะใช้ช่องเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นในระหว่างทางจะได้ยินเรียกวิทยุอยู่เรื่อยๆ นี่คือสถานที่ที่เข้าชมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสักบาทเดียวจริงดิ!!
ในบางจุดจะยังคงเห็นเศษเหล็ก หรือดอกสว่านเดิมที่หักคาอยู่ในก้อนหิน ภูเขาบางจุดจะเห็นเป็นรูกลมๆ นั่นคือร่องรอยเดิมของการก่อสร้าง รูกลมๆนั่นคือการเจาะแล้ววางระเบิดเพื่อให้หินแตกออก ถ้ารูใหญ่ๆนั่นคือรูของเสาค้ำสะพานทางรถไฟเดิม
สร้างกันได้ยังไง ในขณะที่ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีเครน แบ็คโฮ ไม่มีแม้กระทั่งสว่านไฟฟ้า(จริงๆแล้วมีใช้กันอยู่ช่วงวั้นๆเพราะสุดท้ายมันพังหมด ก็ต้องใช้แรงมือเหมือนเดิม) นอกเหนือจากเรื่องการก่อสร้างแล้ว เรื่องราวการใช้ชีวิต สุขอนามัย อาหาร โรคภัย ก็ชวนให้หดหู่ไม่แพ้กันเลยทีเดียว จนไม่น่าเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นจากมนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกันเองได้
ที่แน่ๆ ในความรู้สึกหนึ่งคุณอาจจะเกลียดญี่ปุ่น 555 หลังจากเดินๆหยุดๆมากันเกือบ หนึ่งชั่วโมงครึ่งในที่สุดพวกเราก็มาถึงยังถนนหินตก ซึ่งจะมีศาลาให้คุณนั่งพัก พร้อมมีถังน้ำดื่มให้เติมได้ ต้องขอขอบคุณน้ำดื่มถังนี้เอามากๆ เพราะนี่คือสิ่งช่วยชีวิตในขาเดินกลับของพวกเรา เพราะน้ำที่เตรียมมาทั้งหมด ไม่เหลือแล้ว ทางเดินศึกษาหยุดลงที่ตรงนี้ แต่หากมองต่อไปยังถนนที่คั่นอยู่ ฝั่งตรงข้ามจะยังเห็นแนวของทางรถไฟที่ไปต่อข้างใน แต่ถูกล้อมรั้วและเป็นพื้นที่ปิด ไม่อนุญาตให้เข้าไปได้
เส้นทางช่องเขาขาดนี้ ในระยะที่พวกเราเดินเท้ากันเพียงเท่านี้ ก็ทำให้สามารถซึมซับทั้งข้อมูล และบรรยากาศทุกอย่างเอาไว้มากมายเหลือเกิน เส้นทงรถไฟที่มองผ่านถนนไปยังคงอีกยาวไกล จนเข้าไปสู่ประเทศพม่า แค่พวกเราเดินกัน 5 กิโลเมตร ไป-กลับ แค่นี้ก็เหนื่อยกันจนเกินบรรยายแล้ว
ขากลับเร็วกว่าขาไปเสมอ และครั้งนี้ก็เช่นกัน ขากลับพวกเราเดินกันต่อเนื่องเพราะเริมเย็นแล้ว และไม่ต้องฟังบรรยายอีกแล้วเพราะฟังตอนขามา ที่สำคัญคือต่อให้เปิดฟังก็ไม่รู้เรื่องแล้ว เพราะหัวสมองมันเริ่มเบลอกันไปหมดด้วยความอ่อนล้า จนในที่สุดก็เดินกลับมาถึงที่อาคารพิพิธภัณฑ์กันด้วยสภาพแทบจะคลานขึ้นบันได
วันนี้ทุกคนเก่งมาก เด็กๆเก่งมาก ตัวเราเองก็เก่งมาก เก่งที่รอดมาได้ มันไม่ใช่ธรรมดาๆเลยสำหรับการเดินในครั้งนี้ ต้องอาศัยความอดทนและลูกบ้าก็พอสมควร มีสิ่งเดียวที่สะกิดใจก็คือ ตอนเริ่มเดินใช้ GPS จับระยะทาง พอเดินกลับมาจนครบเช็คดูมันไม่ใช่ 5 กิโลเมตร แต่เป็น 6.35 กิโลเมตรต่างๆหาก แม่เจ้าโว้ย เดินกันเข้าไปได้ไง ยังงงตัวเองอยู่ 555
พวกเรานั่งพักกันพักหนึ่ง ก่อนที่จะออกจากสถานที่แห่งความทรงจำนี้เพือมุ่งหน้าต่อไปยังการแสดงประวัติทางรถไฟที่สะพานข้าแม่น้ำแคว
ขอสดุดี รำลึก และไว้อาลัย กับเชลยศึกทุกๆคนที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับสถานที่แห่งนี้
ปล.ที่นี่มีการจัดงานรำลึกทุกๆปี ในวันที่ 25 เมษายน ซึ่งเป็นวันชาติของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพวกเราวางแผนว่าจะกลับมาที่นี่อีกครั้ง